การเดินทางของโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย
สร้างเสริมประสบการณ์ให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกกับกิจกรรมการทดลอง
พัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีคุณภาพ

โครงการ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” เป็นโครงการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำริให้คณะกรรมการนำไปพิจารณาริเริ่มดำเนินการนำร่องในประเทศไทย โดยได้ทอดพระเนตรตัวอย่างโครงการนี้ คราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศเยอรมนี เมื่อปีพ.ศ. 2552 คณะกรรมการโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย จึงได้ติดต่อกับมูลนิธิ Haus der kleinen Forscher โดยการประสานงานของ Mr. Thomas Tillmann เพื่อขออนุญาตนำกิจกรรมนี้มาทดลองทำในประเทศไทย บัดนี้ทั้งสองฝ่ายได้ทำความตกลงร่วมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยที่มาของโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย มาจากการประเมินผลนานาของโครงการ PISA พบว่า ความรู้และทักษะทางวิทยาศาสตร์ของเด็กไทย ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย อีกทั้งยังขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่จะร่วมมือขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ งานวิจัยยืนยันว่า เราควรสร้างทัศนคติที่ดีด้านการเรียนรู้ทักษะและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัย (อายุ 3-6 ปี) เพราะเป็นช่วงอายุที่มีความสามารถในการเรียนรู้และจดจำมากที่สุด ซึ่งโครงการได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

ปี 2553

โครงการได้ผนึกกำลังหน่วยงาน 8 พันธมิตร

ร่วมดำเนินโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ได้แก่

มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา

สถาบันส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

บริษัท บี.กริม

บริษัทนานมีบุ๊คส์ จำกัด

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)

โดยเริ่มนำใบงานชุดกิจกรรมการทดลองเรื่อง “น้ำ” มาให้เด็ก ๆ ได้สนุกกับการทดลองวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน

จนถึง ณ ปัจจุบัน โครงการได้พัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมสร้างความตระหนักและความรู้ ทักษะเชื่อมโยงกับสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ESD : (Education for Sustainable Development) เพื่อตอบสนองแนวทาง 17 ข้อของ UN sustainable development goals (SDGs)

ซึ่งเรายังไม่หยุดนิ่งเพียงแค่นี้ ในอนาคตเรามีแนวทางที่จะขยายแนวคิดของโครงการไปทั่วประเทศ รวมถึงขยายแนวคิดสู่ระดับประถมศึกษาด้วยเช่นกัน